KOME TONG CLASSIC / โดย ปิ่นอนงค์ ปานชื่น กรุงเทพธุรกิจ กรุงเทพวันอาทิตย์

ฉบับ วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558
คอลัมน์ : กรุงเทพแกลลอรี่

เรื่อง : ต้องตา โคมต้อง

โดย : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

     หลายครั้งที่เราเดินเข้าไปในสถานที่บางแห่งอย่างไร้จุดหมาย แต่กลับได้เรียนรู้เรื่องราวหลากหลายน่าประทับใจ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งผลักประตูกระจกเข้าไปในร้านโคมต้อง ถนนเจริญราษฎร์ ย่านวัดเกตุ เชียงใหม่

     โคมไฟรูปทรงโมเดิร์น รูปทรงแปลกประหลาดทำมาจากโครงไม้ไผ่โปร่งบ้าง ทึบบ้าง โคมไฟหุ้มด้วยผ้า กระดาษ ที่มีสีสันเพียงขาว ครีม กลับทำให้แสงและเงาที่ได้เห็นมีความน่าสนใจ

     รัตนพล ตาจา สถาปนิกหนุ่ม และนักออกแบบ เจ้าของร้านโคมต้อง ทักทายผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นกันเอง พร้อมตอบคำถามที่มักจะมีคนเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ แต่เขาก็สนุกที่จะตอบอยู่เสมอ เพราะชื่อทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเจ้าของร้านโคมสุดเท่นี้ ต้องมีชื่อว่า “ต้อง” แน่ๆ แต่แท้จริงแล้ว “ต้อง” ในที่นี้มีความหมายถึง “การเจาะฉลุ”

     “โคมต้อง” จึงเป็นโคมไฟที่เกิดจากการเจาะฉลุลายลงบนกระดาษ วัสดุหลักที่ใช้ในการทำโคมของชาวล้านนานั่นเอง “โคมต้อง” เป็นโคมประเภทแขวนที่ใช้ในการประดับตกแต่ง ด้วยความที่ร่ำเรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรม ทำให้เขาสนใจในเรื่องของความงามและโครงสร้างของโคมไฟล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากพม่าและจีน ดินแดนที่ติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ

     หลังจากแกะแบบ ทำความรู้จักองค์ประกอบโคม รวมไปถึงลวดลายฉลุอย่างทะลุปรุโปร่ง เขาจึงออกแบบโคมไฟขึ้นมาใหม่

     โดยไม้ไผ่สานที่เกิดจากการลดทอนรายละเอียดเหลือเพียงโครงสร้างของโคม นำมาเรียงต่อกันเป็นนรูปทรงใหม่ มีทั้งรูปทรงโปร่ง และรูปทรงไม้ไผ่สานด้วยเส้นที่จำนวนมากกว่า คือโคมไฟโมเดิร์นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากของเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา

     รัตนพล กล่าวว่า โคมไฟทุกชิ้นในร้าน ล้วนมีพื้นฐานมาจากโคมต้องของล้านนาทั้งสิ้น วัสดุและสีที่ใช้ส่วนมากจึงเป็นโทนสีธรรมชาติ มีสีขาว ครีม เป็นหลัก ส่วนลวดลายบนโคมต้องโบราณนั้น เขาก็นำมาขยายและออกแบบพิมพ์ลงเป็นลายเสื้อยืด โปสการ์ด และของประดับตกแต่งที่ไม่เหมือนใคร

     ไม่น่าเชื่อว่า โคมไฟ เครื่องประดับ โปสการ์ด และเสื้อผ้าภายในร้านที่ดูทันสมัย ล้วนมีที่มาจาก “โคมต้อง” ทั้งสิ้น

    

     ในผลงานออกแบบชุดล่าสุด ที่มีชื่อว่า “From the Chandelier” เขาเล่าว่า เป็นผลงานที่บ่งบอกถึงความคิดในการทำงานมาตลอด 15 ปี เป็นการลดทอนรายละเอียดของโคมระย้า(โคมต้อง) จนเหลือแต่โครงสร้างของโคมพื้นฐานแปดเหลี่ยม จากนั้นทดลองจนได้ผลลัพธ์ เป็นโคมไฟผลิตจากวัสดุใหม่ เช่น โลหะทองแดง และวัสดุทนความร้อน มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน นำมาประกอบกับแผ่นอะคริลิกที่มีความใส น้ำหนักเบา เมื่อนำมารวมเป็นกลุ่มจะให้ความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ไม่ต่างจากกระบวนการการคิดเป็นขั้นตอน รวมทั้งการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตการทำงาน ของคุณรัตนพล (โคมต้อง) ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

     รัตนพล ตาจา กล่าวสุดท้ายว่า โคม อาจหมายถึง โคมไฟทั่วไปหากแต่ “โคมต้อง” คือ งานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญด้านความงาม การออกแบบ และสร้างธุรกิจได้ อย่างยั่งยืน

หมายเหตุ : ร้านโคมต้อง ถนนเจริญราษฎร์ ย่านวัดเกตุ อำเภอเมือง เชียงใหม่ 50000 053302401

~ by Rattanaphol Taja on November 8, 2017.